Ads 468x60px

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

ระดับการวัดของตัวแปรในทางสถิติ

                ในการวิเคราะห์และแปลผลข้อมูลทางสถิตินั้น สิ่งแรกที่ผู้วิเคราะห์ต้องคำนึงถึง คือ การวิเคราะห์แบบสอบถาม หรือ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล สาเหตุที่ต้องมีการวิเคราะห์โครงสร้างของแบบสอบถาม เนื่องจากตัวแปรที่เกิดจากข้อคำถามในเครื่องมือนั้นๆ จะเป็นตัวกำหนดสถิติที่จะนำมาวิเคราะห์ ดังนั้นการที่จะทำการวิเคราะห์โครงสร้างแบบสอบถามหรือเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้นั้น ผู้วิเคราะห์ต้องมีความรู้ในเรื่องของระดับการวัดของตัวแปรในทางสถิติเสียก่อน

     ระดับการวัดของตัวแปร เป็นการจัดเรียงลำดับของตัวแปร โดยสามารถแบ่งระดับในการวัดได้เป็น 4 ระดับ ได้แก่

     1.    มาตรานามบัญญัติ (Nominal Scale) ลักษณะเด่นของมาตรานี้คือ เป็นตัวแปรที่ถูกจัดเป็นกลุ่มๆ โดยที่ตัวแปรนี้ไม่สามารถจัดลำดับก่อนหลัง หรือบอกระยะห่างได้ เช่น เพศ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือเพศชาย และเพศหญิง

     2.    มาตราจัดลำดับ (Ordinal Scale) ลักษณะของมาตรานี้ จะมีลักษณะคล้ายกับมาตรานามบัญญัติ คือสามารถจัดเป็นกลุ่มๆ ได้ และไม่สามารถบอกระยะห่างระหว่างกลุ่มได้เช่นเดียวกับมาตรานามบัญญัติ แต่มาตราจัดลำดับสามารถจัดลำดับก่อนหลังของตัวแปรได้ เช่น วุฒิการศึกษา อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี และสามารถจัดลำดับก่อนหลังได้ว่าผู้ที่จะเรียนในระดับปริญญาตรีได้ต้องผ่านการศึกษาในระดับมัธยมมาก่อน หรือผลการประกวดนางงามที่ผลออกมาเป็น อันดับ 1, 2, 3, … ฯลฯ

     3.    มาตราอันตรภาคชั้น (Interval Scale) คุณลักษณะของมาตรานี้สามารถแบ่งตัวแปรออกเป็นกลุ่มๆ ได้ จัดลำดับก่อนหลังของตัวแปรได้ อีกทั้งมีระยะห่างของช่วงการวัดที่เท่ากัน และที่สำคัญที่สุดของมาตรานี้คือ มาตรานี้เป็นมาตรการวัดที่ไม่มีศูนย์แท้ (Absolute Zero) นั่นหมายความว่า ศูนย์ของมาตรานี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มี แต่เป็นศูนย์ที่เกิดจากการสมมติขึ้น เช่น ผลคะแนนสอบวิชาสถิติของนาย ก พบว่าได้คะแนนเท่ากับ 0 (ศูนย์) นั่นไม่ได้หมายความว่านาย ก ไม่มีความรู้ในเรื่องสถิติ เพียงแต่การสอบในครั้งนั้นวัดได้ไม่ตรงกับสิ่งที่นาย ก รู้

     4. มาตราอัตราส่วน (Ratio Scale) มาตรานี้ เป็นมาตราที่มีลักษณะเหมือนกับมาตราอัตราส่วนทุกประการ แต่สิ่งที่แตกต่างกันในมาตรานี้คือ มาตรานี้เป็นมาตราที่มี ศูนย์แท้ (Absolute Zero) นั่นหมายความว่า ผลที่ได้จากการวัดในมาตรานี้หากเท่ากับศูนย์แสดงว่าไม่มีอย่างแท้จริง เช่น ตัวแปรน้ำหนัก หรือส่วนสูง 0 (ศูนย์) ของตัวแปรทั้งสองตัวนี้หมายถึงไม่มีน้ำหนักและไม่มีความสูงเลย

ระดับการวัดทั้ง 4 มาตรานี้สามารถสรุปได้ดังภาพ



..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/120092

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น